10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน

By TOOB
แนะนำคุณสมบัติและข้อดี-ข้อเสียของ วัสดุปิดผิวและท็อปเคาน์เตอร์ 10 ประเภท เช่น เมลามีน ลามิเนต วีเนียร์ เพื่อให้ทุกคนได้เลือกไปใช้ในการผลิตเคาน์เตอร์และเฟอร์นิเจอร์ ตามการใช้งาน+สถานที่ได้อย่างเหมาะสม

Written by Anchanaツ

Updated: ago
หน้าปกวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ ท็อปเคาน์เตอร์

“เลือกวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์และท็อปเคาน์เตอร์แบบไหนดีน้าา? ตัดสินใจไม่ถูกเลย ลองมาอ่านสรุปคุณสมบัติ ข้อดี-ข้อเสีย และความเหมาะสมด้านการใช้งานของวัสดุแต่ละแบบกัน”

วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 30

วัสดุปิดผิวและท็อปเคาน์เตอร์นั้นมีให้เลือกหลากหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป เราจึงได้ทำคอนเทนต์นี้มาให้ลูกค้าที่กำลังสนใจสั่งผลิต เคาน์เตอร์ นำไปประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้แบบไหนดี เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละพื้นที่นั้น ๆ มากที่สุดกันค่ะ 🙂

1. เมลามีน (Melamine Paper Films Foil)

วัสดุปิดผิวเมลามีน
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 31

วัสดุปิดผิวเมลามีน (Melamine Paper Films Foil) ถือว่าเป็นตัวชูโรงของการทำเคาน์เตอร์เลยก็ว่าได้ เพราะวัสดุปิดผิวเมลามีนจะนิยมใช้มากที่สุดในเคาน์เตอร์ ด้วยราคาที่เหมาะสม คุณภาพของวัสดุ รวมถึงมีลวดลายสวยงามเป็นธรรมชาติสามารถนำมาใช้ปิดผิวทดแทนไม้จริงได้ ง่ายต่อการนำมาผลิต สามารถตัดตามขนาดและดีไซน์ได้ตามต้องการ

เหมาะกับการนำไปผลิตเคาน์เตอร์มาตรฐานทุก ๆ รูปแบบ เป็นวัสดุยืนพื้นในการผลิต เคาน์เตอร์คิดเงิน ในร้านค้า, เคาน์เตอร์ต้อนรับ ในโรงแรม รวมถึงเคาน์เตอร์อื่น ๆ ในสำนักงาน

คุณลักษณะของเมลามีน

เป็นกระดาษพิมพ์ลวดลายต่าง ๆ เคลือบสารเมลามีนที่ถูกผลิตด้วยเครื่องจักรในโรงงาน มีความหนาประมาณ 0.3 – 0.4 มม. โดยผ่านการอัดทับกันหลาย ๆ ชั้น จากนั้นนำไปรีดทับอีกทีบนแผ่นไม้อัด เช่น ไม้ปาติเกิ้ลหรือไม้ MDF ด้วยความร้อนสูง ทำให้ตัวไม้และผิวเมลามีนผสานกันกลายเป็น Melamine Board ซึ่งมันเป็นเนื้อวัสดุเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ทดแทนไม้ธรรมชาติได้

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวเมลามีน
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 32

ข้อดีของวัสดุปิดผิวเมลามีน

  • ผิวสัมผัสเรียบเนียนเสมอกัน
  • มีความแข็งแรงมาก
  • ไม่หลุดลอกง่าย
  • ป้องกันรอยขีดข่วน
  • ทำความสะอาดง่าย เช็ดสิ่งสกปรกออกง่าย
  • ทนความชื้นและเชื้อรา
  • สามารถกันน้ำได้ น้ำไม่ซึมผ่าน
  • ไม่ต้องทากาว ไม่ต้องพ่นสี
  • ทนความร้อนและทนการแตกร้าว
  • มีลวดลายและสีสันที่หลากหลาย
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ผุพังง่าย

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวเมลามีน

  • ไม่เหมาะกับการใช้งานนอกอาคาร
  • ลวดลายและสีสันเลือกได้น้อยกว่าลามิเนต
  • ความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งชิ้น ทำให้ยากต่อการตัดแต่งเป็นรูปทรงที่มีดีเทลละเอียดมาก ๆ

“ในงานเคาน์เตอร์ของ TOOB วัสดุปิดผิวเมลามีนเรามักจะใช้ปิดผิวตัวเคาน์เตอร์ทั้งตัว แต่ถ้าหากอยากปิดท็อปเคาน์เตอร์ก็สามารถทำได้ แต่ตัวเคาน์เตอร์จะเป็นลายเดียวกันทั้งหมด แล้วใช้การตกแต่งลูกเล่นเพิ่มเติม ด้วยการใช้เป็นวัสดุปิดผิวตัวอื่นเสริมเข้าไปค่ะ”

ตัวอย่างเคาน์เตอร์ TOOB ที่ใช้วัสดุปิดผิวเมลามีน

เคาน์เตอร์ที่ใช้วัสดุปิดผิวเมลามีน
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 33

2. ลามิเนต (High Pressure Laminate /HPL)

วัสดุปิดผิวลามิเนต
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 34

วัสดุปิดผิวลามิเนต (High Pressure Laminate /HPL) หรือที่เรียกกันว่า โฟเมก้า, ฟอร์ไมก้า (Formica = ชื่อแบรนด์แผ่นลามิเนตที่ได้รับความนิยมจนคนเรียกติดปาก) เป็นอีกหนึ่งวัสดุปิดผิวยอดนิยมที่ใช้ในงานเคาน์เตอร์อย่างแพร่หลาย เพราะมีสีและลวดลายที่เหมือนไม้จริงมาก มีความแข็งแรงแต่ยืดหยุ่นรองรับแรงกระแทกได้ดี นำมาทำเป็นตัวเคาน์เตอร์หรือท็อปเคาน์เตอร์ก็ได้

ผลิตโดยการทากาวปิดทับบนตัวเคาน์เตอร์ หรืออาจใช้เครื่องอัดแผ่นลามิเนตโดยเฉพาะก็ได้ ส่วนมากจะนำมาปิดท็อปและตกแต่งเพิ่มเติมในส่วนของดีเทลด้านหน้าเคาน์เตอร์ เพราะมีลวดลายที่หลากหลาย เลือกเฉดสีที่เฉพาะเจาะจงได้ โค้งงอเข้ามุมได้ดีกว่าเมลามีน และแข็งแรงมากกว่าพีวีซี

เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเคาน์เตอร์ที่มีรายละเอียดเฉพาะเจาะจง ต้องการให้ลวดลายและสีสันของเคาน์เตอร์มีเฉดที่ตรงกับสีของแบรนด์ ตรงกับการตกแต่งภายในบริเวณนั้น ๆ มากที่สุด

คุณลักษณะของลามิเนต 

เป็นแผ่นไม้สังเคราะห์ที่ทำออกมาให้ใกล้เคียงกับไม้จริงทั้งลวดลายและผิวสัมผัส ทำมาจากวัสดุที่หลากหลายบีบอัดเข้ากันด้วยความร้อนและแรงดันสูงเป็นชั้น ๆ ให้กลายเป็น 1 แผ่น วัสดุในชั้นเหล่านั้นก็จะประกอบไปด้วย ชิ้นไม้, แผ่นฟิล์ม, แผ่นวัสดุพิมพ์ลาย, และปิดท้ายด้วยชั้นเคลือบผิว

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวลามิเนต
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 35

ข้อดีของวัสดุปิดผิวลามิเนต 

  • สวยงามเหมือนไม้จริง
  • ป้องกันรอยขีดข่วนได้
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  • ทนความร้อนได้ดีกว่าเมลามีนและพีวีซี
  • มีความแข็งแรงที่ได้มาตรฐาน
  • ป้องกันแมลงและศัตรูทำลายไม้
  • มีความยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกได้ดี
  • ทำความสะอาดง่าย เช็ดสิ่งสกปรกออกง่าย
  • ใช้ปิดผิวงานที่ต้องการดีเทลเยอะ ๆ ได้
  • สามารถปิดผิวเคาน์เตอร์ที่มีความโค้งงอได้
  • มีลวดลายและสีสันให้เลือกหลากหลายมากกว่า
  • สามารถเลือกเฉดสีที่ใกล้เคียงกับโทนสีของแบรนด์ได้
  • เลือกโทนสีและลวดลายที่เข้ากับการตกแต่งในสถานที่นั้น ๆ ได้

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวลามิเนต

  • ผิวไม่เรียบเนียนเท่าเมลามีน
  • ราคาสูงกว่าวัสดุปิดผิวพีวีซีและเมลามีน
  • ต้องใช้ความชำนาญมากในการติดประกอบ
  • หากติดอย่างไม่ชำนาญ อาจทำให้หลุดร่อนได้
  • ปิดได้แค่ผิวด้านหน้า ลายทั้งสองด้านจึงไม่เหมือนกัน

“ในงานเคาน์เตอร์ของ TOOB วัสดุปิดผิวลามิเนตหรือโฟเมก้า เรามักจะใช้ปิดท็อปเคาน์เตอร์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถปิดผิวตัวเคาน์เตอร์ให้ทั้งชิ้นได้ และยังนิยมนำมาตกแต่งในส่วนต่าง ๆ ของเคาน์เตอร์ทั้งด้านหน้าเคาน์เตอร์ ขอบเคาน์เตอร์ และแถบเคาน์เตอร์อีกด้วย”

ตัวอย่างเคาน์เตอร์ TOOB ที่ใช้วัสดุปิดผิว/ท็อปเคาน์เตอร์ลามิเนต

เคาน์เตอร์ที่ใช้วัสดุปิดผิวลามิเนต
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 36

คลิกดูสินค้าตัวนี้ 👉 เคาน์เตอร์คิดเงินไม้ รุ่น CC-005

3. พีวีซี (Polyvinyl Chloride / P.V.C)

วัสดุปิดผิวพีวีซี
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 37

วัสดุปิดผิวพีวีซี (Polyvinyl Chloride / P.V.C) อีกหนึ่งวัสดุปิดผิวที่นำมาใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ จุดเด่นคือเป็นแผ่นหนังเทียมที่ทำจากพลาสติกบาง ๆ มีสีและลวดลายที่หลากหลายมาก ทั้งลายไม้, ลายการ์ตูน หรือลายยอดนิยมอื่น ๆ ใช้ปิดผิวเคาน์เตอร์ได้เช่นกัน ทำได้ด้วยการพ่นกาวลงที่ตัวเคาน์เตอร์ แล้วใช้แผ่นพีวีซีปิดทับลงไป

เหมาะกับคนที่ต้องการคุมงบประมาณแบบไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรง และใช้งานเคาน์เตอร์ในบริเวณที่ไม่สัมผัสโดนน้ำบ่อย ๆ หรือจะใช้ปิดบริเวณขอบเคาน์เตอร์ในส่วนของดีเทลเล็ก ๆ ที่วัสดุอื่น ๆ ปิดไม่ถึงก็ได้

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวพีวีซี
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 38

ข้อดีของวัสดุปิดผิวพีวีซี 

  • มีความสวยงาม มีสีสันสดใส
  • มีลวดลายให้เลือกเยอะ
  • ราคาถูก เหมาะกับคนที่ต้องการเซฟงบประมาณ
  • โค้งเข้ามุม เข้ารูปทรงตามที่ต้องการได้

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวพีวีซี

  • มีความบาง
  • ต้องมีความชำนาญในการติดประกอบ
  • กันน้ำกันชื้นได้ไม่เทียบเท่ากันเมลามีนและลามิเนต
  • หากสัมผัสโดนบ่อย ๆ หรือโดนน้ำ อาจทำให้หลุดลอกและใช้งานไม่ยาวนาน

4. วีเนียร์ (Veneer)

วัสดุปิดผิววีเนียร์
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 39

วัสดุปิดผิววีเนียร์ (Veneer) เป็นวัสดุที่ทำจากธรรมชาติและมีผิวสัมผัสที่คล้ายจริงมากที่สุด มีทั้งแบบไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) และหินวีเนียร์ (Stone Veneer) โดยทั้งไม้และหินวีเนียร์เป็นการนำผิวเนื้อไม้จริงและหินจริงมาทำเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำไปผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ให้มีความหนา 0.3 – 3 มม.

สำหรับนำไปปิดผิวเคาน์เตอร์ ทำได้โดยการใช้กาวติดบนตัวเคาน์เตอร์อีกที จากนั้นเคลือบผิวด้วยการใช้แล็กเกอร์หรือกาวเพื่อป้องกันการขีดข่วน 

เหมาะกับคนที่ต้องการเคาน์เตอร์ที่มีผิวสัมผัสและลวดลายที่เหมือนไม้จริง/เหมือนหินจริงโดยธรรมชาติ

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิววีเนียร์
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 40

ข้อดีของวัสดุปิดผิววีเนียร์

  • ลายเป็นธรรมชาติเหมือนจริงมากที่สุด
  • ผิวสัมผัสให้ความรู้สึกคล้ายไม้และหินจริง
  • อายุการใช้งานยาวนาน
  • ทำความสะอาดและดูแลรักษาง่าย
  • เข้ากันได้กับงานออกแบบหลายสไตล์
  • เข้ามุมโค้งของเคาน์เตอร์ได้ง่าย

ข้อเสียของวัสดุปิดผิววีเนียร์

  • วีเนียร์ไม้ใช้งานได้ในเฉพาะตัวอาคาร
  • วีเนียร์ไม้หากโดนน้ำหรือความชื้น อาจทำให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น

ตัวอย่างเคาน์เตอร์ TOOB ที่ใช้วัสดุปิดท็อปด้วยวีเนียร์ไม้

เคาน์เตอร์ที่ใช้วัสดุปิดผิววีเนียร์
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 41

5. สแตนเลส (Stainless)

วัสดุปิดผิวสแตนเลส
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 42

วัสดุปิดผิวสแตนเลส (Stainless) เป็นวัสดุที่นิยมมากในการนำมาปิดท็อปเคาน์เตอร์ เพราะง่ายต่อการตัดเชื่อมเพื่อประกอบและขึ้นรูป ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel) ที่มีส่วนผสมของเหล็ก คาร์บอน นิกเกิล และโครเมียม ฯลฯ

มีความโดดเด่นตรงที่สามารถป้องกันสนิม ถึกต่อแรงกระแทก ทนต่อการกัดกร่อน ป้องกันความชื้น ทนต่ออุณหภูมิร้อน-เย็นจัด และทำความสะอาดง่าย

เหมาะสำหรับการปูท็อปเคาน์เตอร์ที่มีการใช้งานหนัก ๆ เป็นพิเศษ เช่น ใช้งานในครัวที่ต้องวางวัตถุดิบที่มีการกัดกร่อนสูง, เคาน์เตอร์ครัวในร้านอาหาร โรงแรม ภัตตาคาร ใช้งานบน เคาน์เตอร์ซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ต้องรองรับสินค้าหลากหลายรูปแบบ

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวสแตนเลส
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 43

ข้อดีของวัสดุปิดผิวสแตนเลส

  • มีผิวเรียบเนียน สวยงาม
  • ป้องกันสนิม ป้องกันความชื้น
  • ทนน้ำกรด น้ำเค็ม ทนทานต่อการกัดกร่อน
  • ทนต่อความร้อน ไม่ติดไฟ
  • ทนต่ออุณหภูมิเย็นจัด ไม่แตกเปราะง่าย
  • แข็งแกร่งทนต่อแรงกระแทก ใช้งานหนัก ๆ ได้
  • ไม่มีคราบติดแน่น ทำความสะอาดง่าย
  • ตอบโจทย์ด้านการใช้งานระยะยาว

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวสแตนเลส

  • มีราคาแพง
  • มีสีและลวดลายให้เลือกน้อย
  • ไม่สามารถใช้ได้กับพื้นผิวการปรุงอาหารด้วยแม่เหล็ก เช่น เตาแม่เหล็กไฟฟ้า

“ในงานของ TOOB Counter เรามักใช้สแตนเลสเป็นท็อปเคาน์เตอร์ (นิยมพอ ๆ กับลามิเนต) ลูกค้าที่ต้องการสั่งผลิตเคาน์เตอร์แคชเชียร์มักใช้ท็อปสแตนเลส เนื่องจากมีความคงทน รับน้ำหนักได้เยอะ ป้องกันการกระแทก ทำความสะอาดง่าย ป้องกันสนิม 

ถ้านำไปทำเป็นเคาน์เตอร์แคชเชียร์ในร้านค้า ไม่ว่าสินค้าจะเป็นแบบไหน เคาน์เตอร์แคชเชียร์ท็อปสแตนเลสก็ทนทานต่อการใช้งานแน่นอน จึงเหมาะกับร้านค้าปลีกทุกประเภท รวมถึงเจ้าของร้านที่ต้องการใช้งานในระยะยาวค่ะ”

ตัวอย่างเคาน์เตอร์ของ TOOB ที่ใช้ท็อปสแตนเลส

6. กระจก (Glass)

วัสดุปิดผิวกระจก
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 46

วัสดุปิดผิวกระจก (Glass) ร้านค้าหลาย ๆ ร้านที่เป็นลูกค้าของ TOOB นิยมใช้กระจกปิดท็อปเคาน์เตอร์มาก ๆ ค่ะ เพราะจุดเด่นของมันคือมีความโปร่งใส สามารถมองเห็นสินค้าด้านในได้ชัดเจน ทั้งยังมีความแข็งแรง ทำความสะอาดง่าย และป้องกันฝุ่นเกาะได้อีกด้วยนะ

เหมาะกับร้านค้าที่ต้องการให้วางสินค้าด้านในเคาน์เตอร์ด้วย และต้องการให้มองเห็นสินค้าด้านใน เช่น ร้านขายยา

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวกระจก
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 47

ข้อดีของวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์แบบกระจก

  • ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่โมเดิร์นและคลาสสิก
  • มองเห็นสินค้าได้ง่าย
  • ทนต่อความร้อนได้ดี
  • ทำความสะอาดง่าย
  • ป้องกันฝุ่นเกาะได้ดี
  • ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์แบบกระจก

  • อาจเป็นรอยนิ้วมือได้ง่าย
  • ไม่เหมาะกับการใช้งานหนัก ๆ เพราะหากกระจกแตก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ตัวอย่างเคาน์เตอร์ TOOB ที่ใช้วัสดุปิดผิว+ท็อปเคาน์เตอร์แบบกระจก

7. กระเบื้อง (Tile)

วัสดุปิดผิวกระเบื้อง
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 50

วัสดุปิดผิวกระเบื้อง (Tile) เป็นวัสดุที่ทำจากดินเผาผสมกับสารชนิดอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไป มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย ซึ่งก็มีให้เลือกทั้งกระเบื้องเซรามิก กระเบื้องพอร์ซเลน กระเบื้องแกรนิตโต้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

เหมาะกับการทำท็อปเคาน์เตอร์ครัว ที่ต้องการความแข็งแรง และคนที่ต้องการเซฟงบประมาณ แต่ต้องการลวดลายที่หลากหลาย

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวกระเบื้อง
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 51

ข้อดีของวัสดุปิดผิวกระเบื้อง

  • มีลวดลายให้เลือกหลากหลาย
  • หาซื้อได้ง่าย
  • ดูแลรักษาง่าย
  • ซ่อมแซมง่าย
  • ราคาไม่แพง
  • ทนต่อสภาพแวดล้อมและการใช้งาน

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวกระเบื้อง

  • มีรอยต่อระหว่างแผ่นกระเบื้อง ทำให้ผิวสัมผัสไม่สม่ำเสมอ
  • หากทำความสะอาดได้ไม่ดี คราบเปื้อนอาจสะสมฝังอยู่ตามร่องยาแนว
  • หากใช้งานด้วยแรงกระแทกหนัก ๆ ต้องระมัดระวังเรื่องกระเบื้องแตก

8. หินแท้ธรรมชาติ (Natural Stone)

วัสดุปิดผิวหินแท้
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 52

วัสดุปิดผิวหินแท้ธรรมชาติ (Natural Stone) ไม่ว่าจะเป็นหินอ่อน (Marble) / หินแกรนิต (Granite) / หินควอตซ์ (Quqrtz) เป็นวัสดุปิดผิวที่ได้รับความนิยมในการใช้งานในครัวมาก ๆ ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทาน ไม่ติดไฟ เก็บความเย็น และยังเป็นหินจากธรรมชาติที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ มีความเงางาม หรูหรา มีสีสันให้เลือกหลากหลาย พร้อมทั้งทำความสะอาดง่าย

เหมาะกับการนำไปท็อป เคาน์เตอร์ครัว เคาน์เตอร์ทั่วไป หรืองานบิ้วท์อินที่ต้องการความหรูหราและเงางามเป็นประกาย มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงต้องการความแข็งแรงจากหินธรรมชาติ

ข้อดีข้อเสียของวัสดุปิดผิวหินแท้
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 53

ข้อดีของวัสดุปิดผิวหินแท้

  • เนื้อหินมีความเงางาม หรูหรา
  • ลวดลายสวยงามเป็นธรรมชาติ ไม่ซ้ำกัน
  • สามารถนำมาฉลุลายและแต่งขอบได้
  • แข็งแรง ทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน
  • ไม่ผุง่าย ไม่ขึ้นสนิม
  • กันน้ำ ทนความชื้น
  • ทนต่อความร้อน ไม่ติดไฟ
  • ดูแลรักษาและเช็ดทำความสะอาดง่าย 
  • ไม่จับฝุ่น ขนสัตว์ และฝุ่นละอองต่าง ๆ

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวหินแท้

  • หินบางชนิดไม่ทนต่อกรดและสารเคมี
  • มีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก
  • ถ้าโดนแดดนาน ๆ อาจทำให้ซีดจางได้

ตัวอย่างเคาน์เตอร์ TOOB ที่ท็อปเคาน์เตอร์ด้วยหินควอตซ์

เคาน์เตอร์ครัว ปิดท็อปหินควอตซ์
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 54

คลิกดูผลงานบิ้วอิน 👉 บิ้วอินเฟอร์นิเจอร์และเคาน์เตอร์ครัวบ้านคุณวันเพ็ญ

9. หินสังเคราะห์อะคริลิค (Acrylic Solid Surface)

วัสดุปิดผิวหินสังเคราะห์อะคริลิค
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 55

วัสดุปิดผิวหินสังเคราะห์อะคริลิค (Acrylic Solid Surface) หรือหินเทียมอะคริลิค มีความหนาตั้งแต่ 6 – 5 มม. ถูกออกแบบมาใช้ทดแทนหินธรรมชาติ มีความเรียบเนียนสม่ำเสมอกันทั้งแผ่น ไม่มีรูพรุน ทำให้น้ำซึมได้ยาก และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ มีทั้งแบบอะคริลิค 100% และอะคริลิคผสมโพลีเอสเตอร์

เหมาะกับการนำไปใช้ในเคาน์เตอร์อุตสาหกรรมอาหาร พื้นที่ทางการแพทย์ หรือใช้ท็อปเคาน์เตอร์ที่มีขนาดยาวมาก ๆ โดยไม่ต้องการให้มีรอยต่อ

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวหินสังเคราะห์อะคริลิค
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 56

ข้อดีของวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์แบบหินสังเคราะห์

  • มีความใกล้เคียงกับหินธรรมชาติมาก
  • มีสีสันและลวดลายให้เลือกหลากหลาย
  • ไม่มีรูพรุน ป้องกันการดูดซึมน้ำ
  • ไม่ทำให้เกิดแบคทีเรียและเชื้อรา
  • ใช้ทำท็อปเคาน์เตอร์ที่มีขนาดยาวได้
  • ป้องกันรังสียูวี ทนความร้อน 
  • สีของพื้นผิวไม่เปลี่ยนแปลงง่าย
  • ผิวเรียบเนียน ไม่มีรอยต่อ ทำให้เนื้อวัสดุมีสีและลวดลายสม่ำเสมอกันทั่วทั้งแผ่น 
  • ใช้ได้ทั้งในอาคารและนอกอาคาร เพราะมีคุณสมบัติป้องกันยูวี
  • มีความแข็งแรง หากเกิดรอยขีดข่วนสามารถซ่อมแซมได้ง่าย

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์แบบหินสังเคราะห์

  • ราคาแพงกว่าหินธรรมชาติ
  • หินเทียมที่มีส่วนผสมโพลีเอสเตอร์จะไม่สามารถดัดโค้งได้

10. หนังเทียม PU (Polyurethane Leather)

วัสดุปิดผิวหนังเทียม pu
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 57

วัสดุปิดผิวหนังเทียม PU (Polyurethane Leather) เป็นวัสดุปิดผิวที่ทำจากเทอร์โมพลาสติกที่ถูกทำออกมาให้เหมือนกับหนังแท้มากที่สุด มีความหนาประมาณ 1 – 1.2 มม. มีผิวสัมผัสที่นุ่ม ยืดหยุ่น มีลวดลายให้เลือกเยอะมาก มักจะถูกนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น นำมาใช้ทำโซฟา เพราะมีคุณภาพสูงกว่าพีวีซี

สำหรับงานเคาน์เตอร์ จะเหมาะกับคนที่ต้องการท็อปเคาน์เตอร์แบบหนังที่มีคุณภาพสูงกว่าพีวีซี อาจจะนำมาตกแต่งในส่วนของดีเทลต่าง ๆ ของเคาน์เตอร์ที่ต้องการลูกเล่นหรือ Texture ที่แปลกใหม่ได้

ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุปิดผิวหนังเทียม pu
10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์ / ท็อปเคาน์เตอร์ เลือกแบบไหนให้ตอบโจทย์การใช้งาน 58

ข้อดีของวัสดุปิดผิวแบบหนังเทียม PU

  • ใช้ทดแทนหนังแท้ได้
  • มีลวดลายให้เลือกหลากหลาย
  • มีสัมผัสที่นุ่ม ยืดหยุ่น
  • ทำความสะอาดง่าย
  • มีความทนทานและอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหนังพีวีซี

ข้อเสียของวัสดุปิดผิวแบบหนังเทียม PU

  • ราคาแพงกว่าพีวีซี
  • ความทนทานสู้หนังแท้ไม่ได้
  • ไม่เหมาะกับอุณภูมิร้อน

วิดีโอ 10 วัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์

https://www.youtube.com/watch?v=AkkEV9eJ6Qk

ทิ้งท้าย by writer

หากพูดถึงวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์และท็อปเคาน์เตอร์ จริง ๆ สามารถเลือกใช้ได้หลากหลายแบบมาก แต่ในคอนเทนต์นี้ เรานำวัสดุปิดผิวยอดนิยมมาให้ลูกค้านำไปพิจารณากัน 10 อย่าง ซึ่งได้แก่

  1. เมลามีน = นิยมนำมาปิดผิวเคาน์เตอร์มากที่สุด เนื่องจากติดตั้งง่าย ราคาเหมาะสม สามารถปิดได้ทั้งตัวเคาน์เตอร์ เหมาะกับเคาน์เตอร์ทุกรูปแบบ
  2. ลามิเนต = นิยมพอ ๆ กันเมลามีน เพราะลวดลายที่หลากหลาย สามารถไล่เฉดสีได้ตามสีของแบรนด์ นิยมนำมาปิดท็อปเคาน์เตอร์ และนำมาตกแต่งในส่วนของดีเทลเคาน์เตอร์ได้ง่าย
  3. พีวีซี = แม้จะมีความบางกว่าเมลามีนและลามิเนต แต่ก็เป็นอีกวัสดุที่นิยมนำมาปิดผิวเคาน์เตอร์ แต่จะปิดในส่วนที่ไม่โดนน้ำบ่อย ๆ เหมาะกับคนที่ต้องการประหยัดงบ
  4. วีเนียร์ = เป็นวัสดุจากธรรมชาติ เหมาะกับคนที่ต้องการผิวสัมผัสและลวดลายเป็นธรรมชาติมากที่สุด
  5. สแตนเลส = ป้องกันสนิมได้ เหมาะกับการใช้งานในครัวที่รับแรงกระแทกหนัก ๆ พื้นที่ที่มีการกัดกร่อน โดนความร้อนสูง หรือเย็นจัด และยังนิยมนำมาทำท็อปเคาน์เตอร์แคชเชียร์ในร้านค้า
  6. กระจก = มักจะใช้ใน เคาน์เตอร์ร้านขายยา ที่ต้องการให้มองเห็นสินค้าด้านในเคาน์เตอร์
  7. กระเบื้อง = มักจะถูกนำมาใช้ในเคาน์เตอร์ครัว ที่ต้องการลวดลายที่หลากหลาย อยากได้ความแข็งแรง และประหยัดงบ
  8. หินแท้ธรรมชาติ = สวยเงางามหรูหรา มีลวดลายที่ทันสมัย เก็บความเย็น ทนทานแและไม่ติดไฟ มักจะนำมาใช้ในเคาน์เตอร์ครัว
  9. หินสังเคราะห์อะคริลิค = ลายสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งในและนอกอาคาร ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา น้ำซึมยาก เหมาะกับท็อปเคาน์เตอร์ยาว ๆ 
  10. หนังเทียม PU = ใช้ทดแทนหนังแท้ อยากได้ Texture ที่แปลกใหม่ หรือต้องการปิดผิวแบบแผ่นหนัง แต่อยากได้คุณภาพสูงกว่าพีวีซี

นอกจากนี้ยังมีวัสดุปิดผิวเคาน์เตอร์แบบ ไม้จริง, ไม้โพสฟอร์ม, แผ่นคริสตัลบอร์ด,หินคริสตัลไวท์ และอื่น ๆ อีกมากมาย หากลูกค้าสนใจอยากได้วัสดุปิดผิวและท็อปเคาน์เตอร์แบบไหน หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสั่งผลิตเคาน์เตอร์ สามารถทักมาปรึกษาแอดมินได้ที่ปุ่มติดต่อด้านล่างเลยนะคะ TOOB Counter ยินดีให้บริการค่ะ

และถ้าต้องการอ่านบทความเกี่ยวกับเคาน์เตอร์ สามารถคลิกอ่านที่ BLOG by TOOB Counter ได้เลยค่า

ขอบคุณแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :

  • ข้อดีข้อเสียและคุณสมบัติของวัสดุปิดผิว – wazzadu.com
  • วัสดุที่ใช้ทำท็อปเคาน์เตอร์ครัว – banidea.com

Written by Anchanaツ

นักเขียนและออกแบบคอนเทนต์ SEO ทุกเว็บไซต์ในเครือบริษัท PN

cross